“ตาขี้เกียจ” อาจเป็นโรคที่อยู่ใกล้ตัวกว่าที่เราคิด โรคตาขี้เกียจ Lazy Eye (Amblyopia) คือ ภาวะที่ประสิทธิภาพในการมองเห็นลดน้อยลง เกิดจากความผิดปกติของการพัฒนาด้านการมองเห็นในวัยเด็ก ผู้ที่มีภาวะตาขี้เกียจมักจะมีอาการมองเห็นเป็นภาพซ้อน มองเห็นไม่ชัด บทความนี้จะช่วยไขข้อสงสัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาวะตาขี้เกียจคืออะไร ? มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ? ตัวเรา ลูกน้อยหรือคนในครอบครัวมีอาการตาขี้เกียจหรือไม่ ? มาทำความเข้าใจและเรียนรู้ภาวะตาขี้เกียจพร้อมกับวิธีการป้องกันโรคนี้กันเลย
- ตาขี้เกียจ คือ ภาวะที่ความสามารถในการมองเห็นลดน้อยลง ส่วนมากจะพบในวัยเด็ก
- เกิดได้ทั้งจากปัจจัยทางพันธุกรรมและพฤติกรรมของตัวเราเอง เช่น ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง การใช้สายตาเพียงข้างเดียวมากเกินไปและอื่น ๆ
- ตาขี้เกียจสามารถรักษาด้วยการสวมใส่แว่น ใช้ผ้าปิดตาหรือการใช้ยาหยอด ไปจนถึงการผ่าตัด ควรเข้ารับการรักษาก่อนอายุ 7 ปี เนื่องจากเป็นช่วงที่ระบบร่างกายยังอยู่ในช่วงพัฒนา
ตาขี้เกียจ (Lazy Eye) คืออะไร
ตาขี้เกียจ Lazy Eye (Amblyopia) คือ ภาวะที่การมองเห็นมีประสิทธิภาพลดลง ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ในวัยเด็กร้อยละ 5 – 10 ของจำนวนประชากร หากเด็กเป็นโรคตาขี้เกียจ ความสามารถในการมองเห็นจะลดลง มองเห็นเป็นภาพซ้อนหรือภาพที่เห็นดูพร่ามัว หากไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นที่ดีอย่างถาวร ควรเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
สาเหตุของตาขี้เกียจเกิดจาก
สาเหตุของตาขี้เกียจ (Lazy Eye) สามารถเกิดได้จากทั้งสาเหตุทางพันธุกรรมหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เช่น ภาวะการทำงานที่ไม่สมดุลของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการเคลื่อนไหวดวงตา การใช้ตาข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไปรวมถึงสาเหตุอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหาตาขี้เกียจ แล้วสาเหตุนอกเหนือจากนี้มีอะไรบ้าง ? ภาวะดังกล่าวหมายถึงอะไร ? เรามาทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กัน
ภาวะการทำงานของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการเคลื่อนไหวดวงตาทำงานไม่สมดุลกัน
ภาวะการทำงานของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการเคลื่อนไหวดวงตาทำงานไม่สมดุลกัน เป็นภาวะที่ดวงตาทั้งสองข้างไม่สามารถมองไปที่จุดตำแหน่งเดียวกันได้ มีจุดโฟกัสแยกเป็นสองจุด ทำให้ผู้ที่มีภาวะนี้จะมองภาพระยะไกลไม่ชัด และเลือกที่จะใช้ตาข้างที่เห็นชัดมากกว่านั่นเอง
การใช้ตาข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป
การใช้ตาข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป คือ ภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อตาทั้งสองข้างถูกใช้งานไม่เท่ากันหรือใช้งานเพียงแค่ตาข้างเดียวเป็นระยะเวลานาน ซึ่งทำให้ตาข้างที่ไม่ได้ใช้ ไม่เกิดการพัฒนาการมองเห็น เกิดภาวะตาขี้เกียจ อาจนำพาไปสู่การสูญเสียการมองเห็นในที่สุด
สายตาไม่เท่ากันทั้งสองข้าง
การที่ค่าสายตาหรือความสามารถในการมองเห็นของตาทั้งสองข้างนั้นแตกต่างกัน หากอธิบายให้เห็นภาพ เช่น ตาข้างซ้ายมีค่าสายตาสั้น -1.50 D ส่วนตาข้างขวากลับมีค่าสายตาสั้น -4.00 D สามารถปรับการมองเห็นด้วยการสวมแว่นที่มีค่าสายตา
ความบกพร่องระบบประสาทตา
วามบกพร่องทางระบบประสาท ไม่ว่าจะเป็นภาวะเส้นประสาทตาเสื่อม เกิดแผลบริเวณจุดรับภาพในจอตา รวมถึงการได้รับความเสียหายของสมองในส่วนควบคุมการมองเห็นเนื่องจากขาดออกซิเจน ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการมองเห็นลดลง อาจทำให้เสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็น ความบกพร่องดังกล่าวล้วนเป็นสาเหตุของภาวะตาขี้เกียจ
เกิดจากโรคในตาต่าง ๆ
ตาขี้เกียจอาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับดวงตาได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นภาวะหนังตาตกหรือการที่เปลือกตาตกลงมาปิดดวงตามากกว่าปกติ ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง ภาวะต้อกระจกที่เลนส์ตามีลักษณะเป็นสีขาวขุ่น ซึ่งภาวะที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนเป็นตัวการบดบัง (deprivation) และลดประสิทธิภาพด้านการมองเห็น
อาการของโรคตาขี้เกียจมีอะไรบ้าง
อาการของโรคตาขี้เกียจ (Lazy Eye) คือ การที่มองเห็นภาพไม่ชัด ตาพร่ามัว สามารถสังเกตได้ทั้งจากลักษณะภายนอก เช่น มีอาการตาเหล่ ตาเข และสามารถสังเกตจากอาการและพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น รู้สึกตาทั้งสองข้างทำงานไม่ประสานกัน มีค่าสายตาผิดปกติ สั้น ยาว เอียง มีพฤติกรรมการกะระยะไม่ได้ เดินชนสิ่งของต่าง ๆ เวลาเพ่งมองสิ่งของจะต้องหรี่ตา อาการของตาขี้เกียจนี้ สามารถเป็นได้เพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้
ตาขี้เกียจ พบได้ในวัยไหนบ้าง
โรคตาขี้เกียจ Lazy Eye (Amblyopia) สามารถพบได้ทั้งในวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ โดยส่วนใหญ่แล้วจะพบในเด็กและควรได้รับการรักษาก่อนอายุครบ 7 ปี เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่ร่างกายกำลังพัฒนาด้านการมองเห็น พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมและอาการของเด็ก เพื่อที่จะสามารถเข้ารับการรักษาจากจักษุแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว
วิธีสังเกตนั้น สังเกตได้ไม่ยาก หากเด็กมีอาการตาเหล่เพียงข้างเดียว มีพฤติกรรมการชอบเอียงหน้าหรือหรี่ตาเพ่งมองสิ่งของ มีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงแต่กำเนิด ควรรีบพาเด็กไปพบจักษุแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาทันทีและควรตรวจสายตาอย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี
ส่วนในวัยผู้ใหญ่มักจะเป็นอาการต่อเนื่องมาจากอาการในวัยเด็กที่ไม่ได้รับการรักษา แต่ก็สามารถพึ่งมาเป็นโรคตาขี้เกียจในตอนโตได้เช่นกัน หากมีพฤติกรรมการใช้สายตาข้างหนึ่งมากเกินไปหรือการละเลยปัญหาสายตา ทั้งนี้การรักษาโรคตาขี้เกียจในผู้ใหญ่ให้หายร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น อาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
วิธีกการรักษาโรคตาขี้เกียจ
วิธีการรักษาโรคตาขี้เกียจ (Lazy Eye) สามารถรักษาได้ทั้งวิธีที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดและวิธีที่ไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัด สามารถรักษาได้ดังนี้
- การสวมแว่นสายตา ถึงแม้ว่าวิธีการรักษานี้จะไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาตาขี้เกียจโดยตรง แต่การสวมแว่นตาจะช่วยปรับความสามารถในการมองเห็นได้
- การใช้แผ่นปิดตา นำแผ่นปิดตามาปิดข้างที่สามารถมองเห็นได้ดี เพื่อเป็นการกระตุ้นตาข้างที่เป็นตาขี้เกียจ ให้ได้พัฒนาการมองเห็น
- การรักษาโดยการใช้ยาหยอดเพื่อขยายรูม่านตา จุดประสงค์ของการรักษาด้วยวิธีนี้จะคล้ายกับวิธีการฝึกออกกำลังกายกล้ามเนื้อตา เนื่องจากเมื่อเราหยดยาหยอดลงไปที่ดวงตาข้างที่มองเห็นได้ดี ยาจะทำให้ตาข้างนั้น มองเห็นภาพไม่ชัด วิธีนี้จึงเป็นการฝึกการมองเห็นของตาอีกข้าง
- การผ่าตัด เป็นวิธีแก้ปัญหาหนังตาตกหรือปัญหาต้อกระจก รวมถึงปัญหาอื่น ๆ ที่บดบังประสิทธิภาพในการมองเห็น เพื่อให้กลับมามองเห็นได้ตามปกติแล้ว จึงค่อย ๆ พัฒนาการมองเห็น
วิธีกการป้องกันตาขี้เกียจ
- ตรวจเช็คสายตาเป็นประจำ เพื่อที่จะสามารถพบความผิดปกติได้เร็วและเข้ารับการรักษาได้ทันที
- คอยสังเกตพฤติกรรมที่บ่งบอกการเป็นโรคตาขี้เกียจ เช่น พฤติกรรมเอียงหน้ามอง หรี่ตาเพ่งสิ่งของ
- การหมั่นออกกำลังกายกล้ามเนื้อตา โดยการใช้มือปิดตาหนึ่งข้างแล้วใช้ตาอีกข้างมองสิ่งต่าง ๆ ทั้งในระยะใกล้และระยะไกล เพื่อฝึกให้กล้ามเนื้อตาได้ทำงานทั้งสองข้าง
สรุป
อาการตาขี้เกียจสามารถสังเกตได้จากอาการตาเหล่ ตาเข เริ่มมองภาพไม่ชัด ภาพที่เห็นมีความเบลอหรือสังเกตว่าเด็กมีพฤติกรรมเอียงหัว หรี่ตาเพ่งเวลามองสิ่งต่าง ๆ ถึงแม้ว่าโรคตาขี้เกียจนี้ จะไม่ใช่โรคที่น่ากลัว แต่เราไม่ควรชะล่าใจไป เมื่อสังเกตว่า มีอาการหรือความผิดปกติใดใด ควรรีบเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการรักษาโดยทันที