ปัจจุบันคนนิยมทำตาสองชั้นกันมากขึ้น เคสที่มีปัญหาแทรกซ้อนที่เกิดจากการทำตาสองชั้นก็มีมาปรึกษาหมอกันมากขึ้น ปัญหาที่พบมากที่สุดของการทำตาสองชั้นคือ ชั้นตาไม่เท่ากัน และสาเหตุของชั้นตาไม่เท่ากันที่พบมากที่สุดก็คือการมีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง (Ptosis) ดังนั้นแพทย์ที่ผ่าตัดทำตาสองชั้นที่ดีจำเป็นต้องรู้จักและรักษาภาวะนี้เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากการทำตาสองชั้นไม่เท่ากัน
ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง (Ptosis)
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเป็นอย่างไร กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงคือภาวะที่ลืมตาไม่สุด เปลือกตาด้านบนปิดลงมามากกว่าปกติทำให้เห็นตาดำไม่ครบวง ทำให้ดูตาปรือ ลืมตายาก หากเป็นกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง 2 ข้างจะทำให้เหมือนคนง่วงนอนตลอดเวลา ดูเหนื่อยเพลีย แต่ถ้าเป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรงข้างเดียวจะเห็นได้ชัดว่าตาไม่เท่ากัน ตาข้างที่เป็นจะตกลงมาปิดตามากกว่า กรณีนี้เรามักจะสังเกตได้ด้วยตนเองเลยค่ะ
กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงบางคนอาจเป็นมาแต่กำเนิดอยู่แล้ว หรือเกิดขึ้นภายหลังจากการใช้ชีวิตประจำวัน เช่นการใส่คอนแทคเลนส์ หรือขยี้ตาเป็นนิสัย บางคนมีตาสองชั้นอยู่แล้ว แต่รู้สึกว่าตาไม่สวย อยากให้ตาสวยขึ้น อยากตาโต หรือคนชอบทักว่าตาดูเหนื่อย ดูง่วงนอนตลอดเวลา ตาง่วง ไม่สดใส หรือทำตาสองชั้นมาแล้ว แต่ไม่สวย ตาปรือๆ เพราะอะไร.. ต้องมาให้รู้จักกับ “ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง”
อาการของภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง?
หลายๆ คนมักถามหมอว่ากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงสังเกตจากอะไร มีลักษณะอาการอย่างไรบ้าง โดยรวมแล้วคนที่มีภาวะนี้จะตาปรือ ตาง่วงนอน ไม่สดใส หรือบางรายทำตาสองชั้นมาแล้วแต่ก็ยังรู้สึกว่าไม่สวยอยู่ดี มาดูกันว่าลักษณะของกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงมีอะไรบ้าง
1.ลืมตาไม่เต็มที่
ถ้าเป็นกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงข้างเดียวจะเห็นเปลือกตาข้างนั้นลงมาปิดที่ขอบบนของตาดำมากกว่าอีกข้าง ลืมตาได้ไม่โตเท่ากับอีกข้าง ชั้นตาจะไม่เท่ากัน ข้างที่เป็นกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงจะมีชั้นตาที่ใหญ่กว่าข้างที่ปกติ หากปล่อยทิ้งไว้จะบังการมองเห็นได้
2.ปัญหาเลิกหน้าผาก
ถ้ากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเป็นมากมักจะเลิกหน้าผากเพื่อยกคิ้วช่วยให้เปลือกตา ไม่ลงมาบังการมองเห็น อาจทำให้มีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยบริเวณหน้าผากจากการออกแรงเพื่อยกเปลือกตา โดยเฉพาะช่วงเย็นๆของแต่ละวันเมื่อหมดแรงยก จะยิ่งทำให้รู้สึกตาลืมยากมากขึ้นกว่าตอนเช้า นอกจากนี้การเลิกหน้าผากนานๆจะทำให้เกิดริ้วรอยถาวรบริเวณหน้าผาก ทำให้ดูมีอายุ และคิ้วโก่งกว่าปกติได้
3.กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงข้างเดียว
ถ้าเป็นกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงข้างเดียวคิ้วข้างที่มีกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงจะสูงกว่าปกติ (แบบไม่ตั้งใจ) ชั้นตาข้างนั้นก็จะใหญ่กว่า เปลือกตาจะปรือลงมาบังตาดำมากกว่าปกติ ทำให้ตาดูไม่เท่ากัน และบังการมองเห็น 1 ข้าง ในเคสที่มีปัญหาดังกล่าวหากเป็นมาก และสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน จะส่งผลต่อความมั่นใจและบุคลิกภาพอย่างมาก
4.เบ้าตาลึกกว่าปกติ
เบ้าตาลึก จะมีลักษณะของร่องลึกอยู่เหนือเปลือกตา ส่วนมากจะพบในผู้ที่มีอายุมาก หรือมีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงร่วมด้วย ซึ่งคนที่มีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง จะเห็นเบ้าตาลึกที่ชัดกว่าปกติ ดูเป็นคนง่วงนอนตลอดเวลา เกิดจากไขมันใต้เปลือกตาหายไปจากตำแหน่งที่ลึก ทำให้ตาดูโหล ดูโทรม มองแล้วดูมีอายุ บางคนกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเป็นไม่มากอาจจะมีแค่ข้อ 1 ทำให้เราเห็นแค่ว่าตา 2 ข้างเปิดไม่เท่ากันเล็กน้อย
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด “ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง”
ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงมีหลายประเภท และก็ยังมีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้ ความหนักเบาของอาการแตกต่างกันไป และแนวทางในการรักษาก็แตกต่างกันไปแต่ละบุคคล ซึ่งบางสาเหตุอาจะส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย บทความด้านล่างจะพูดถึงสาเหตุหลักๆของการเกิด ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง
1. เป็นกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงแบบชนิดเป็นมาแต่กำเนิด (Congenital ptosis)
กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงที่เป็นมาแต่กำเนิด จะมีเปลือกตาตกตั้งแต่เด็ก ตกแค่ข้างเดียว หรือเป็นทั้ง 2 ข้าง อาจเกิดจากความผิดปกติในการทำงานของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการลืมตา
ทำให้การมองเห็นลดลง ส่งผลให้มีสายตาเอียง หรือ สายตาขี้เกียจ หากไม่แก้ไข
2. อายุมากขึ้น (Involutional ptosis)
กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นในภายหลัง มักพบมากเมื่ออายุมากขึ้น เนื่องจากกล้ามเนื้อตาจะยืดและเปลือกตาตกลงมา การใช้ชีวิตประจำวันของเราก็มีส่วนสำคัญอย่างมาก ในเคสที่มีอาการภูมิแพ้ขึ้นตา ขยี้ตาบ่อยๆ หรือเคสที่มีการใส่ คอนแทคเลนส์ หรือบิ๊กอายเป็นระยะเวลานาน ก็ส่งผลให้กล้ามเนื้อตายืดได้เช่นกัน
3. อุบัติเหตุหรือการผ่าตัดตาสองชั้นที่ผิดพลาด ก็สามารถทำให้เกิดกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้
การเกิดอุบัติเหตุที่ได้รับการกระทบกระเทือนบริเวณสมองที่มีเส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อตา กระทบกระเทือนบริเวณเปลือกตา หรือการผ่าตัดกับแพทย์ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญก็ส่งผลให้เกิดกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงในภายหลังได้
4. การหลั่งสารสื่อประสาทหรือเส้นประสาทที่เลี้ยงกล้ามเนื้อตาผิดปกติ เกิดกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงชนิดที่เรียกว่า โรค MG
จะมีอาการหนังตาตกไม่เท่ากันในแต่ละเวลา อาการดีขึ้นเมื่อได้หลับตาพัก หรือช่วงเช้าหลังจากตื่นนอน ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงชนิดนี้ ไม่ควรได้รับการผ่าตัดกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง เมื่อแพทย์สงสัยภาวะนี้ จะมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัย และการรักษาตามแนวทางที่ถูกต้อง เป็นโรคที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงมีกี่ระดับ?
เมื่อพูดถึงลักษณะดวงตาของเราในสภาวะปกติของมนุษย์ เปลืองตาบนจะคลุมตาดำลงมาอยู่ที่ระดับ 1-2 มิลลิเมตรเพียงเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม หากคุณกำลังสงสัยว่าตนเองมีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงหรือไม่ คุณสามารถสังเกตการเปลี่ยนแปลงบนขอบตาบนที่สามารถแบ่งเป็นระดับต่าง ๆ ได้ดังนี้:
ระดับเริ่มต้น (ระดับที่ 1) : คุณอาจสังเกตเมื่อขอบของเปลือกตาบนปิดคลุมตาดำลงมาเกินระดับขอบ 2 มิลลิเมตร ซึ่งอาจเป็นอาการแรกที่คุณพบเมื่อมีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเริ่มเกิดขึ้น
ระดับกลาง (ระดับที่ 2) : ในระดับนี้ คุณอาจสังเกตว่าขอบของเปลือกตาบนปิดคลุมตาดำลงมาเกินกว่า 3 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่ามีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงที่มีความรุนแรงกลาง
ระดับรุนแรง (ระดับที่ 3) : และในระดับสุดท้าย คุณจะเห็นว่าขอบของเปลือกตาบนปิดคลุมตาดำลงมาเกิน 4 มิลลิเมตร ซึ่งบ่งบอกถึงภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงที่รุนแรงที่สุด
หากคุณพบว่ามีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น : ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการวินิจฉัย และปรึกษาเพื่อหาวิธีรักษาที่เหมาะสมของแต่ละบุคคล
กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงอันตรายไหม
ความเสี่ยงจากกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง ที่อาจมีผลกระทบที่น่าเป็นห่วง หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา
1.ผลกระทบที่คุณบุคลิกภาพ : ผู้ที่มีปัญหากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงมักมีผลกระทบต่อบุคลิกภาพ สิ่งนี้ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการใช้ชีวิตประจำวันลดลง หรือในบางครั้งอาจจะส่งผลต่อหน้าที่การงาน เช่น ดารา,นักร้อง หรือแอร์โฮสเตส
2. ผลกระทบในการมองเห็น : สำหรับคนที่พบปัญหากล้ามเนื้อตาอ่อนแรง จะส่งผลให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง เปลือกตาที่ตกลงจะทำให้มองเห็นแคบลงเนื่องจากการบดบังทัศนวิสัย
3. ต้องยกคิ้ว หรือเลิกหน้าผากเพื่อเพิ่มการมองเห็น : ภาวะกล้ามเนื้อตาส่งผลต่อการมองแล้ว ยังส่งผลต่อมาถึงรอยเหี่ยวย่นได้ เนื่องจากคนไข้ต้องยกคิ้วเพื่อการมองเห็น การกระทำนี้อาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยบริเวณหน้าผาก รวมถึงรอยเหี่ยวย่นที่อาจตามมาได้
การรักษา “กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง”
ต้องอธิบายให้ฟังก่อนว่า ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ เป็นเพราะมีการยืดของกล้ามเนื้อตาเกิดขึ้น อาจจะเกิดจากการถูขยี้ตาบ่อยจากอาการภูมิแพ้ขึ้นตา หรือการใส่ Contact Lens มาเป็นเวลานานๆ ทำให้ตาปรือลง
การปรับกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง ที่ inZ Clinic ไม่จำเป็นต้องทำแค่ในเคสที่มีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง คนไข้บางรายที่มีปัญหาตาเล็ก มากๆ แต่อยากได้ตาที่กลมโตขึ้น ก็สามารถทำได้ ด้วยการทำตาสองชั้น ร่วมกับเทคนิค Big eye surgery เป็นการปรับระดับกล้ามเนื้อตา เพื่อให้เปลือกตายกขึ้นอย่างเหมาะสม ก็จะช่วยเปิดตาดำให้เห็นชัดขึ้น ดวงตาจึงดูกลมโตสดใสขึ้น โดยที่เราไม่ต้องไปทำชั้นตาหนาๆ ใหญ่ๆ ส่วนในกรณีคนไข้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงสามารถรักษาได้ ดังนี้
รักษากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงแบบไม่ผ่าตัด
การรักษากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงแบบไม่ผ่าตัด เป็นเพียงการช่วยบรรเทา ลดความรุนแรงของอาการเพียงเท่านั้น โดยสามารถทำได้ด้วยการบริหารกล้ามเนื้อตา กลอกตาขึ้นลง ซ้ายขวา รวมถึงการปรับจุดเพ่งด้วยการชูนิ้วมือมาที่กึ่งกลางระหว่างดวงตาทั้งสองให้อยู่ในระดับสายตาและเลื่อนเข้าหาดวงตาอย่างช้า ๆ จนมองเห็นเป็นภาพซ้อน ฝึกบริหารเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อและลดอาการกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้
วิธีการบริหารกล้ามเนื้อตา
Step 1 : กลอกตาขึ้นลง
Step 2 : กลอกตาซ้ายขวา
Step 3 : ชูนิ้วมือมาที่กึ่งกลางระหว่างดวงตาทั้งสองให้อยู่ในระดับสายตาและเลื่อนเข้าหาดวงตาอย่างช้า ๆ
รักษากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงโดยการผ่าตัด
วิธีการแก้ไขกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง ในการผ่าตัดจะหมอจะผ่าตัดลงลึกไปถึงชั้นกล้ามเนื้อตา เพื่อปรับระดับการยกขึ้นของเปลือกตา จึงจำเป็นต้องทำร่วมกับการทำตาสองชั้น เพราะต้องมีการเปิดแผลจากการทำตาสองชั้นก่อน ช่วยแก้ไขปัญหาคนที่ขอบตาบนลงมาปิดตาดำมากกว่าปกติ ตาปรือ ๆ ดูง่วงนอนตลอดเวลา ตาขี้เกียจ ตาลอย เพื่อให้ได้ดวงตากลมโตสดใส ตาดำเปิดชัดขึ้นโดยที่ไม่ต้องทำชั้นตาใหญ่ๆ ซึ่งวิธีในการผ่าตัดนั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะต้องวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อเลือกวิธีที่เหมาะสมกับแต่ละคนมากที่สุด
ทำตาสองชั้นแก้ปัญหากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้ไหม
การศัลยกรรมทำตาสองชั้นเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่วิธีที่สามารถแก้ปัญหากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้ เนื่องจากการทำตาสองชั้นเป็นเพียงการสร้างชั้นตาให้ดวงตาดูสดใสมากยิ่งขึ้น แต่ในกรณีที่ต้องการจะแก้ไขปัญหากล้ามเนื้อตาอ่อนแรง จะต้องมีการดึงปรับกล้ามเนื้อตาร่วมกับการทำตาสองชั้น หากทำตาสองชั้น โดยไม่แก้ไขกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงร่วมด้วย อาจทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้
1. มีชั้นตาแล้ว แต่ตายังคงปรืออยู่
ในกรณีที่มีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง แต่ทำตาสองชั้นอย่างเดียวโดยไม่ปรับกล้ามเนื้อตา หลังทำก็จะได้ชั้นตาที่ชัดขึ้น แต่จะไม่ได้แก้ไขปัญหาภาวะตาปรือ หรือตาดูง่วงนอนเลยขอบตาบนจะยังลงมาปิดตาดำเหมือนเดิม และในอนาคตก็ต้องกลับมาแก้ไขกล้ามเนื้อตาอยู่ดี ดังนั้นการทำตาสองชั้นพร้อมปรับกล้ามเนื้อตาไปเลย จะทำให้ได้ดวงตาที่กลมโตสดใส โดยที่เราไม่ต้องไปทำชั้นตาใหญ่ๆ และไม่ต้องกลับมาแก้ไขซ้ำอีกด้วย
2. ชั้นตาไม่เท่ากัน
เนื่องจากการเปิดของตาทั้งสองข้างไม่เท่ากัน ข้างที่มีปัญหากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงจะมีชั้นตาใหญ่กว่าเพราะตาปรือลงมา ยิ่งทำให้ตาทั้งสองข้างดูต่างกันมากขึ้น ในกรณีนี้แพทย์อาจจะต้องทำการผ่าตัดกล้ามเนื้อตาข้างที่มีปัญหา หรือปรับกล้ามเนื้อตาทั้งสองข้าง เพื่อปรับระดับการยกของเปลือกตาให้ใกล้เคียงกันมากที่สุด จะช่วยแก้ปัญหาในเคสที่ตาไม่เท่ากันได้มาก
3. ชั้นตาเป็นหลายชั้น
เกิดได้จากกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเอง หรือจากที่ผู้ป่วยต้องคอยเลิกหน้าผากเพื่อช่วยลืมตา ทำให้เห็นรอยพับหลายชั้นที่ไม่ใช่ชั้นตาปกติ และไม่ตรงตำแหน่งรอยกรีดหรือรอยเย็บชั้นตา บางคนจะเห็นชั้นตาเป็นเส้นๆซ้อนพับทับกันหลายๆชั้น ในกรณีนี้แพทย์จะแก้ไขด้วยการกรีดยาวตัดหนังตาส่วนเกินออกร่วมกับการปรับกล้ามเนื้อตา ทำให้ชั้นตาที่ซ้อนทับกันหายไป
4. กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงข้างเดียว
ในเคสที่เป็นกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเพียงข้างเดียว จะทำให้ตาข้างนั้นปรือตกลงมาจะเห็นว่าชั้นตาดูใหญ่กว่าอีกข้างหนึ่ง แพทย์จะแก้ไขด้วยการผ่าตัดปรับระดับการยกของเปลือตาข้างที่มีปัญหาให้ใกล้เคียงกับตาอีกข้างมากที่สุด จะทำให้ดวงตาทั้งสองข้างดูเท่ากันมากขึ้น
กรณีที่มีกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเพียงข้างเดียวแล้วทำตาสองชั้น โดยไม่ปรับกล้ามเนื้อตาร่วมด้วย จะทำให้ชั้นตาดูไม่เท่ากัน ชั้นตาข้างหนึ่งใหญ่กว่าอีกข้างหนึ่ง ดวงตาดูปรือข้างเดียวอย่างเห็นได้ชัด การปรับกล้ามเนื้อตาร่วมกับการทำตาสองชั้นจะช่วยให้ดวงตามีขนาดใกล้เคียงหรือเท่ากับดวงตาอีกข้างมากที่สุด อีกทั้งปัญหากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงข้างเดียว อาจนำไปสู่ภาวะสายตาเอียงหรือโรคตาขี้เกียจได้
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด?
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดทำตาสองชั้นจะเหมือนการผ่าตัดศัลยกรรมรอบดวงตาอื่นๆ ดังนี้
- งดยา วิตามินอาหารเสริม ที่ลดการแข็งตัวของเลือด เช่น C,E คอลลาเจน น้ำมันตับปลา อย่างน้อย 2 สัปดาห์
- คนไข้ควรสระผมมาให้เรียบร้อยก่อนผ่าตัด เพราะหลังจากผ่าตัดช่วงแรกอาจจะต้องระวังน้ำโดนแผล
- ในวันผ่าตัดงดการแต่งหน้า แต่งบริเวณตา
- หากมีการต่อขนตาต้องถอดออกก่อนวันผ่าตัด
- ดูแลตัวเองให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ถ้าคนไข้มีอาการผิดปกติที่ผิวหนังบริเวณเปลือกตาก่อนวันผ่าตัด 2 สัปดาห์ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ เช่น เป็นตากุ้งยิง ตาบวม หรือมีผื่นขึ้นตา
ข้อดีหลังจากแก้ไข ผ่าตัดกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง?
- ได้ดวงตาที่กลมโตสดใส ดูเป็นธรรมชาติ
- เปิดตาดำให้เห็นชัดขึ้น ช่วยให้การมองเห็นปกติขึ้น
- แก้ไขปัญหาชั้นตาปรือ ตาง่วงนอน ส่งเสริมบุคลิกภาพให้ดียิ่งขึ้น
- ชั้นตาและดวงตาทั้งสองข้าง ใกล้เคียงกันมากขึ้น
- แก้ไขการเลิกหน้าผาก ซึ่งเป็นสาเหตุของรอยย่นบริเวณหน้าผาก
หลังจากผ่าตัดกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง จะมีผลกระทบต่อชั้นตาเดิมหรือไม่?
เวลาผ่าตัดเพื่อแก้ไขกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง หมอจะต้องรื้อโครงสร้างตาด้านในใหม่ทั้งหมด และจะต้องกำหนดชั้นตาใหม่ ร่วมกับการแก้ไขกล้ามเนื้อตาที่อ่อนแรง ในกรณีที่คนไข้ชอบชั้นตาเดิม หมอก็จะออกแบบชั้นตาให้ใกล้เคียงกับช้นตาเดิมมากที่สุด
” ข้อควรระวัง “
การทำตาสองชั้นโดยไม่แก้ไขภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง อาจทำให้ชั้นตาผิดรูปมากขึ้น มีชั้นตาใหญ่ แต่ตาปรือ ลืมตาขึ้นไม่สุด หรือถ้าหากก่อนทำมีตาตกข้างเดียว การทำตาสองชั้นโดยไม่แก้ไขจะทำให้ชั้นตาไม่เท่ากัน
การแก้ไขกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงนั้นมีความละเอียดอ่อน และซับซ้อนมากกว่าการทำตาสองชั้นทั่วๆไป ดังนั้นหมอจึงขอแนะนำว่าให้เลือกผ่าตัดกับแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์เท่านั้น เพราะหากทำผิดพลาดไปแล้วจะทำให้สามารถแก้ไขได้ยาก ที่ inZ Clinic หมอหลิน และทีมแพทย์ทุกท่าน เป็นจักษุแพทย์เฉพาะทาง ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างรอบดวงตาอย่างดี โดยคำนึงถึงความสวยงามและความปลอดภัยควบคู่กัน เพื่อผลลัพธ์ที่ออกมาสวยและเหมาะสมที่สุดสำหรับคนไข้ค่ะ
Tips : “การทำตาสองชั้นร่วมกับการผ่าตัดปรับกล้ามเนื้อตา สามารถแก้ไขปัญหากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้ค่ะ เพราะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงส่วนมากที่หมอผ่าตัด เป็นความผิดปกติจากกล้ามเนื้อตา ถ้าไม่ปรับกล้ามเนื้อตาร่วมด้วย อาจทำให้ชั้นใหญ่ ตาดูปรือกว่าเดิม แต่กรณีกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงชนิดที่เกิดจากโรค MG จะเป็นความผิดปกติจากสารสื่อประสาท กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงชนิดนี้ ต้องรักษาด้วยวิธีทานยาแทนค่ะ”
พญ.วันวิสาข์ ตันศิริเจริญกุล (หมอหลิน)
ตัวอย่างแก้ตาสองชั้นที่ทำจากที่อื่นมาก่อนของ inZ clinic
สรุป
ปัญหากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงมีมากและหลบซ่อนอยู่ในการผ่าตัดทำตาสองชั้นเสมอ เป็นสาเหตุที่พบมากที่สุดของการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการทำตาสองชั้น แพทย์ที่ไม่มีความรู้และไม่สามารถแก้ไขกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้ จะทำให้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังทำตาสองชั้นได้มาก การผ่าตัดทำตาสองชั้นจึงไม่ใช่แค่แพทย์ทำตาสองชั้น แต่ต้องเป็นแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านเปลือกตาและสามารถตรวจพบและแก้ไขกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้อย่างเหมาะสม