ปัจจุบันคนนิยมทำตาสองชั้นกันมากขึ้น เคสที่มีปัญหาแทรกซ้อนที่เกิดจากการทำตาสองชั้นก็มีมาปรึกษาหมอกันมากขึ้น ปัญหาที่พบมากที่สุดของการทำตาสองชั้นคือ ชั้นตาไม่เท่ากัน และสาเหตุของชั้นตาไม่เท่ากันที่พบมากที่สุดก็คือการมีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง (Ptosis) ดังนั้นแพทย์ที่ผ่าตัดทำตาสองชั้นที่ดีจำเป็นต้องรู้จักและรักษาภาวะนี้เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากการทำตาสองชั้นไม่เท่ากัน
ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง (Ptosis)
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเป็นอย่างไร กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงคือภาวะที่ลืมตาไม่สุด เปลือกตาด้านบนปิดลงมามากกว่าปกติทำให้เห็นตาดำไม่ครบวง ทำให้ดูตาปรือ ลืมตายาก หากเป็นกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง 2 ข้างจะทำให้เหมือนคนง่วงนอนตลอดเวลา ดูเหนื่อยเพลีย แต่ถ้าเป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรงข้างเดียวจะเห็นได้ชัดว่าตาไม่เท่ากัน ตาข้างที่เป็นจะตกลงมาปิดตามากกว่า กรณีนี้เรามักจะสังเกตได้ด้วยตนเองเลยค่ะ
กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงบางคนอาจเป็นมาแต่กำเนิดอยู่แล้ว หรือเกิดขึ้นภายหลังจากการใช้ชีวิตประจำวัน เช่นการใส่คอนแทคเลนส์ หรือขยี้ตาเป็นนิสัย บางคนมีตาสองชั้นอยู่แล้ว แต่รู้สึกว่าตาไม่สวย อยากให้ตาสวยขึ้น อยากตาโต หรือคนชอบทักว่าตาดูเหนื่อย ดูง่วงนอนตลอดเวลา ตาง่วง ไม่สดใส หรือทำตาสองชั้นมาแล้ว แต่ไม่สวย ตาปรือๆ เพราะอะไร.. ต้องมาให้รู้จักกับ “ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง”
อาการของภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง?
หลายๆ คนมักถามหมอว่ากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงสังเกตจากอะไร มีลักษณะอาการอย่างไรบ้าง โดยรวมแล้วคนที่มีภาวะนี้จะตาปรือ ตาง่วงนอน ไม่สดใส หรือบางรายทำตาสองชั้นมาแล้วแต่ก็ยังรู้สึกว่าไม่สวยอยู่ดี มาดูกันว่าลักษณะของกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงมีอะไรบ้าง
1.ลืมตาไม่เต็มที่
ถ้าเป็นกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงข้างเดียวจะเห็นเปลือกตาข้างนั้นลงมาปิดที่ขอบบนของตาดำมากกว่าอีกข้าง ลืมตาได้ไม่โตเท่ากับอีกข้าง ชั้นตาจะไม่เท่ากัน ข้างที่เป็นกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงจะมีชั้นตาที่ใหญ่กว่าข้างที่ปกติ หากปล่อยทิ้งไว้จะบังการมองเห็นได้
2.ปัญหาเลิกหน้าผาก
ถ้ากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเป็นมากมักจะเลิกหน้าผากเพื่อยกคิ้วช่วยให้เปลือกตา ไม่ลงมาบังการมองเห็น อาจทำให้มีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยบริเวณหน้าผากจากการออกแรงเพื่อยกเปลือกตา โดยเฉพาะช่วงเย็นๆของแต่ละวันเมื่อหมดแรงยก จะยิ่งทำให้รู้สึกตาลืมยากมากขึ้นกว่าตอนเช้า นอกจากนี้การเลิกหน้าผากนานๆจะทำให้เกิดริ้วรอยถาวรบริเวณหน้าผาก ทำให้ดูมีอายุ และคิ้วโก่งกว่าปกติได้
3.กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงข้างเดียว
ถ้าเป็นกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงข้างเดียวคิ้วข้างที่มีกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงจะสูงกว่าปกติ (แบบไม่ตั้งใจ) ชั้นตาข้างนั้นก็จะใหญ่กว่า เปลือกตาจะปรือลงมาบังตาดำมากกว่าปกติ ทำให้ตาดูไม่เท่ากัน และบังการมองเห็น 1 ข้าง ในเคสที่มีปัญหาดังกล่าวหากเป็นมาก และสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน จะส่งผลต่อความมั่นใจและบุคลิกภาพอย่างมาก
4.เบ้าตาลึกกว่าปกติ
เบ้าตาลึก จะมีลักษณะของร่องลึกอยู่เหนือเปลือกตา ส่วนมากจะพบในผู้ที่มีอายุมาก หรือมีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงร่วมด้วย ซึ่งคนที่มีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง จะเห็นเบ้าตาลึกที่ชัดกว่าปกติ ดูเป็นคนง่วงนอนตลอดเวลา เกิดจากไขมันใต้เปลือกตาหายไปจากตำแหน่งที่ลึก ทำให้ตาดูโหล ดูโทรม มองแล้วดูมีอายุ บางคนกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเป็นไม่มากอาจจะมีแค่ข้อ 1 ทำให้เราเห็นแค่ว่าตา 2 ข้างเปิดไม่เท่ากันเล็กน้อย
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด “ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง”
ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงมีหลายประเภท และก็ยังมีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้ ความหนักเบาของอาการแตกต่างกันไป และแนวทางในการรักษาก็แตกต่างกันไปแต่ละบุคคล ซึ่งบางสาเหตุอาจะส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย บทความด้านล่างจะพูดถึงสาเหตุหลักๆของการเกิด ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง
1. เป็นกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงแบบชนิดเป็นมาแต่กำเนิด (Congenital ptosis)
กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงที่เป็นมาแต่กำเนิด จะมีเปลือกตาตกตั้งแต่เด็ก ตกแค่ข้างเดียว หรือเป็นทั้ง 2 ข้าง อาจเกิดจากความผิดปกติในการทำงานของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการลืมตา
ทำให้การมองเห็นลดลง ส่งผลให้มีสายตาเอียง หรือ สายตาขี้เกียจ หากไม่แก้ไข
2. อายุมากขึ้น (Involutional ptosis)
กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นในภายหลัง มักพบมากเมื่ออายุมากขึ้น เนื่องจากกล้ามเนื้อตาจะยืดและเปลือกตาตกลงมา การใช้ชีวิตประจำวันของเราก็มีส่วนสำคัญอย่างมาก ในเคสที่มีอาการภูมิแพ้ขึ้นตา ขยี้ตาบ่อยๆ หรือเคสที่มีการใส่ คอนแทคเลนส์ หรือบิ๊กอายเป็นระยะเวลานาน ก็ส่งผลให้กล้ามเนื้อตายืดได้เช่นกัน
3. อุบัติเหตุหรือการผ่าตัดตาสองชั้นที่ผิดพลาด ก็สามารถทำให้เกิดกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้
การเกิดอุบัติเหตุที่ได้รับการกระทบกระเทือนบริเวณสมองที่มีเส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อตา กระทบกระเทือนบริเวณเปลือกตา หรือการผ่าตัดกับแพทย์ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญก็ส่งผลให้เกิดกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงในภายหลังได้
4. การหลั่งสารสื่อประสาทหรือเส้นประสาทที่เลี้ยงกล้ามเนื้อตาผิดปกติ เกิดกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงชนิดที่เรียกว่า โรค MG
จะมีอาการหนังตาตกไม่เท่ากันในแต่ละเวลา อาการดีขึ้นเมื่อได้หลับตาพัก หรือช่วงเช้าหลังจากตื่นนอน ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงชนิดนี้ ไม่ควรได้รับการผ่าตัดกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง เมื่อแพทย์สงสัยภาวะนี้ จะมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัย และการรักษาตามแนวทางที่ถูกต้อง เป็นโรคที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
วิธีสังเกตุอาการภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง
1. ตาดำทั้งสองข้างเปิดไม่เท่ากัน
2. ตาดูปรือ เหมือนคนง่วงนอนตลอดเวลา บางรายมีชั้นตาซ้อนกันหลายชั้น
3. การมองเห็นผิดปกติ หรือลดลง อาจะทำให้เกิดสายตาเอียง
4. มักจะเลิกหน้าผากเพื่อยกคิ้ว ช่วยในการลืมตา ทำให้อาจเกิดรอยย่นบริเวณหน้าผาก
ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงมีกี่ระดับ?
เมื่อพูดถึงลักษณะดวงตาของเราในสภาวะปกติของมนุษย์ เปลืองตาบนจะคลุมตาดำลงมาอยู่ที่ระดับ 1-2 มิลลิเมตรเพียงเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม หากคุณกำลังสงสัยว่าตนเองมีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงหรือไม่ คุณสามารถสังเกตการเปลี่ยนแปลงบนขอบตาบนที่สามารถแบ่งเป็นระดับต่าง ๆ ได้ดังนี้:
ระดับเริ่มต้น (ระดับที่ 1) : คุณอาจสังเกตเมื่อขอบของเปลือกตาบนปิดคลุมตาดำลงมาเกินระดับขอบ 2 มิลลิเมตร ซึ่งอาจเป็นอาการแรกที่คุณพบเมื่อมีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเริ่มเกิดขึ้น
ระดับกลาง (ระดับที่ 2) : ในระดับนี้ คุณอาจสังเกตว่าขอบของเปลือกตาบนปิดคลุมตาดำลงมาเกินกว่า 3 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่ามีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงที่มีความรุนแรงกลาง
ระดับรุนแรง (ระดับที่ 3) : และในระดับสุดท้าย คุณจะเห็นว่าขอบของเปลือกตาบนปิดคลุมตาดำลงมาเกิน 4 มิลลิเมตร ซึ่งบ่งบอกถึงภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงที่รุนแรงที่สุด
หากคุณพบว่ามีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น : ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการวินิจฉัย และปรึกษาเพื่อหาวิธีรักษาที่เหมาะสมของแต่ละบุคคล
หากไม่รักษากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงจะเป็นอะไรไหม?
ความเสี่ยงจากกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง ที่อาจมีผลกระทบที่น่าเป็นห่วง หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา
1.ผลกระทบที่คุณบุคลิกภาพ : ผู้ที่มีปัญหากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงมักมีผลกระทบต่อบุคลิกภาพ สิ่งนี้ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการใช้ชีวิตประจำวันลดลง หรือในบางครั้งอาจจะส่งผลต่อหน้าที่การงาน เช่น ดารา,นักร้อง หรือแอร์โฮสเตส
2. ผลกระทบในการมองเห็น : สำหรับคนที่พบปัญหากล้ามเนื้อตาอ่อนแรง จะส่งผลให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง เปลือกตาที่ตกลงจะทำให้มองเห็นแคบลงเนื่องจากการบดบังทัศนวิสัย
3. ต้องยกคิ้ว หรือเลิกหน้าผากเพื่อเพิ่มการมองเห็น : ภาวะกล้ามเนื้อตาส่งผลต่อการมองแล้ว ยังส่งผลต่อมาถึงรอยเหี่ยวย่นได้ เนื่องจากคนไข้ต้องยกคิ้วเพื่อการมองเห็น การกระทำนี้อาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยบริเวณหน้าผาก รวมถึงรอยเหี่ยวย่นที่อาจตามมาได้
วิธีการแก้ไขกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง?
วิธีการแก้ไขกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง ในการผ่าตัดจะหมอจะผ่าตัดลงลึกไปถึงชั้นกล้ามเนื้อตา เพื่อปรับระดับการยกขึ้นของเปลือกตา จึงจำเป็นต้องทำร่วมกับการทำตาสองชั้น เพราะต้องมีการเปิดแผลจากการทำตาสองชั้นก่อน ช่วยแก้ไขปัญหาคนที่ขอบตาบนลงมาปิดตาดำมากกว่าปกติ ตาปรือ ๆ ดูง่วงนอนตลอดเวลา ตาขี้เกียจ ตาลอย เพื่อให้ได้ดวงตากลมโตสดใส ตาดำเปิดชัดขึ้นโดยที่ไม่ต้องทำชั้นตาใหญ่ๆ
การรักษา “กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง”
ต้องอธิบายให้ฟังก่อนว่า ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ เป็นเพราะมีการยืดของกล้ามเนื้อตาเกิดขึ้น อาจจะเกิดจากการถูขยี้ตาบ่อยจากอาการภูมิแพ้ขึ้นตา หรือการใส่ Contact Lens มาเป็นเวลานานๆ ทำให้ตาปรือลง
การปรับกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง ที่ inZ Clinic ไม่จำเป็นต้องทำแค่ในเคสที่มีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง คนไข้บางรายที่มีปัญหาตาเล็ก มากๆ แต่อยากได้ตาที่กลมโตขึ้น ก็สามารถทำได้ ด้วยการทำตาสองชั้น ร่วมกับเทคนิค Big eye surgery เป็นการปรับระดับกล้ามเนื้อตา เพื่อให้เปลือกตายกขึ้นอย่างเหมาะสม ก็จะช่วยเปิดตาดำให้เห็นชัดขึ้น ดวงตาจึงดูกลมโตสดใสขึ้น โดยที่เราไม่ต้องไปทำชั้นตาหนาๆ ใหญ่ๆ ส่วนในกรณีคนไข้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงสามารถรักษาได้ ดังนี้
1. ในกรณีที่มีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง
สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด ซึ่งวิธีในการผ่าตัดนั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะต้องวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อเลือกวิธีที่เหมาะสมกับแต่ละคนมากที่สุด
2. เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่เกิดได้ในหลายระบบของร่างกาย
หากเกิดกับตาจะทำให้มีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง (Ptosis) มีอาการลืมตาไม่ค่อยขึ้นกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงชนิดที่เรียกว่า โรค MG สามารถรักษาโดยการรับประทานยา ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงชนิดนี้ ไม่ควรได้รับการผ่าตัดกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง เมื่อแพทย์สงสัยภาวะนี้ จะมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัย และการรักษาตามแนวทางที่ถูกต้อง สาเหตุของการเกิด โรค MG ยังไม่ทราบแน่ชัด อาจเกิดจากภูมิต้านทานของร่างกายไปขัดขวางการทำงานของสารสื่อประสาท ส่งผลให้การทำงานของกล้ามเนื้อผิดปกติ
การทำตาสองชั้นโดยไม่แก้ไขกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงจะเกิดผลอย่างไร
1. มีชั้นตาแล้ว แต่ตายังคงปรืออยู่
ในกรณีที่มีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง แต่ทำตาสองชั้นอย่างเดียวโดยไม่ปรับกล้ามเนื้อตา หลังทำก็จะได้ชั้นตาที่ชัดขึ้น แต่จะไม่ได้แก้ไขปัญหาภาวะตาปรือ หรือตาดูง่วงนอนเลยขอบตาบนจะยังลงมาปิดตาดำเหมือนเดิม และในอนาคตก็ต้องกลับมาแก้ไขกล้ามเนื้อตาอยู่ดี ดังนั้นการทำตาสองชั้นพร้อมปรับกล้ามเนื้อตาไปเลย จะทำให้ได้ดวงตาที่กลมโตสดใส โดยที่เราไม่ต้องไปทำชั้นตาใหญ่ๆ และไม่ต้องกลับมาแก้ไขซ้ำอีกด้วย
2. ชั้นตาไม่เท่ากัน
เนื่องจากการเปิดของตาทั้งสองข้างไม่เท่ากัน ข้างที่มีปัญหากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงจะมีชั้นตาใหญ่กว่าเพราะตาปรือลงมา ยิ่งทำให้ตาทั้งสองข้างดูต่างกันมากขึ้น ในกรณีนี้แพทย์อาจจะต้องทำการผ่าตัดกล้ามเนื้อตาข้างที่มีปัญหา หรือปรับกล้ามเนื้อตาทั้งสองข้าง เพื่อปรับระดับการยกของเปลือกตาให้ใกล้เคียงกันมากที่สุด จะช่วยแก้ปัญหาในเคสที่ตาไม่เท่ากันได้มาก
3. ชั้นตาเป็นหลายชั้น
เกิดได้จากกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเอง หรือจากที่ผู้ป่วยต้องคอยเลิกหน้าผากเพื่อช่วยลืมตา ทำให้เห็นรอยพับหลายชั้นที่ไม่ใช่ชั้นตาปกติ และไม่ตรงตำแหน่งรอยกรีดหรือรอยเย็บชั้นตา บางคนจะเห็นชั้นตาเป็นเส้นๆซ้อนพับทับกันหลายๆชั้น ในกรณีนี้แพทย์จะแก้ไขด้วยการกรีดยาวตัดหนังตาส่วนเกินออกร่วมกับการปรับกล้ามเนื้อตา ทำให้ชั้นตาที่ซ้อนทับกันหายไป
4. ข้างที่มีปัญหากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงจะดูปรือ ชั้นตาใหญ่กว่าอีกข้าง
ในเคสที่เป็นกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเพียงข้างเดียว จะทำให้ตาข้างนั้นปรือตกลงมาจะเห็นว่าชั้นตาดูใหญ่กว่าอีกข้างหนึ่ง แพทย์จะแก้ไขด้วยการผ่าตัดปรับระดับการยกของเปลือตาข้างที่มีปัญหาให้ใกล้เคียงกับตาอีกข้างมากที่สุด จะทำให้ดวงตาทั้งสองข้างดูเท่ากันมากขึ้น
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด?
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดทำตาสองชั้นจะเหมือนการผ่าตัดศัลยกรรมรอบดวงตาอื่นๆ ดังนี้
- งดยา วิตามินอาหารเสริม ที่ลดการแข็งตัวของเลือด เช่น C,E คอลลาเจน น้ำมันตับปลา อย่างน้อย 2 สัปดาห์
- คนไข้ควรสระผมมาให้เรียบร้อยก่อนผ่าตัด เพราะหลังจากผ่าตัดช่วงแรกอาจจะต้องระวังน้ำโดนแผล
- ในวันผ่าตัดงดการแต่งหน้า แต่งบริเวณตา
- หากมีการต่อขนตาต้องถอดออกก่อนวันผ่าตัด
- ดูแลตัวเองให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ถ้าคนไข้มีอาการผิดปกติที่ผิวหนังบริเวณเปลือกตาก่อนวันผ่าตัด 2 สัปดาห์ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ เช่น เป็นตากุ้งยิง ตาบวม หรือมีผื่นขึ้นตา
ข้อดีหลังจากแก้ไข ผ่าตัดกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง?
- ได้ดวงตาที่กลมโตสดใส ดูเป็นธรรมชาติ
- เปิดตาดำให้เห็นชัดขึ้น ช่วยให้การมองเห็นปกติขึ้น
- แก้ไขปัญหาชั้นตาปรือ ตาง่วงนอน ส่งเสริมบุคลิกภาพให้ดียิ่งขึ้น
- ชั้นตาและดวงตาทั้งสองข้าง ใกล้เคียงกันมากขึ้น
- แก้ไขการเลิกหน้าผาก ซึ่งเป็นสาเหตุของรอยย่นบริเวณหน้าผาก
หลังจากผ่าตัดกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง จะมีผลกระทบต่อชั้นตาเดิมหรือไม่?
เวลาผ่าตัดเพื่อแก้ไขกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง หมอจะต้องรื้อโครงสร้างตาด้านในใหม่ทั้งหมด และจะต้องกำหนดชั้นตาใหม่ ร่วมกับการแก้ไขกล้ามเนื้อตาที่อ่อนแรง ในกรณีที่คนไข้ชอบชั้นตาเดิม หมอก็จะออกแบบชั้นตาให้ใกล้เคียงกับช้นตาเดิมมากที่สุด
” ข้อควรระวัง “
การทำตาสองชั้นโดยไม่แก้ไขภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง อาจทำให้ชั้นตาผิดรูปมากขึ้น มีชั้นตาใหญ่ แต่ตาปรือ ลืมตาขึ้นไม่สุด หรือถ้าหากก่อนทำมีตาตกข้างเดียว การทำตาสองชั้นโดยไม่แก้ไขจะทำให้ชั้นตาไม่เท่ากัน
การแก้ไขกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงนั้นมีความละเอียดอ่อน และซับซ้อนมากกว่าการทำตาสองชั้นทั่วๆไป ดังนั้นหมอจึงขอแนะนำว่าให้เลือกผ่าตัดกับแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์เท่านั้น เพราะหากทำผิดพลาดไปแล้วจะทำให้สามารถแก้ไขได้ยาก ที่ inZ Clinic หมอหลิน และทีมแพทย์ทุกท่าน เป็นจักษุแพทย์เฉพาะทาง ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างรอบดวงตาอย่างดี โดยคำนึงถึงความสวยงามและความปลอดภัยควบคู่กัน เพื่อผลลัพธ์ที่ออกมาสวยและเหมาะสมที่สุดสำหรับคนไข้ค่ะ
ตัวอย่างแก้ตาสองชั้นที่ทำจากที่อื่นมาก่อนของ inZ clinic
สรุป
ปัญหากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงมีมากและหลบซ่อนอยู่ในการผ่าตัดทำตาสองชั้นเสมอ เป็นสาเหตุที่พบมากที่สุดของการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการทำตาสองชั้น แพทย์ที่ไม่มีความรู้และไม่สามารถแก้ไขกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้ จะทำให้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังทำตาสองชั้นได้มาก การผ่าตัดทำตาสองชั้นจึงไม่ใช่แค่แพทย์ทำตาสองชั้น แต่ต้องเป็นแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านเปลือกตาและสามารถตรวจพบและแก้ไขกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้อย่างเหมาะสม