ตาขาวเหลือง สัญญาณเตือนโรคร้าย ดูแลดวงตาอย่างไรให้ขาวใส

           ดวงตาของเรา โดยปกติแล้ว บริเวณเยื่อบุตาขาวจะใส มีสีขาวนวล หากเยื่อบุตาขาวเกิดการเปลี่ยนสี จากสีขาวเป็นสีเหลือง เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติของระบบในร่างกาย ซึ่งอาการตาเหลือง เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ หากพบเจอความผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุความผิดปกติ เพื่อรับการรักษาให้เร็วที่สุด เนื่องจากบางสาเหตุอาจเป็นโรคร้ายแรงที่อันตรายต่อชีวิตของเรา

Table of Contents

    อาการตาเหลืองเป็นอย่างไร

    ตาขาวเหลือง สัญญาณเตือนโรคร้าย ดูแลดวงตาอย่างไรให้ขาวใส

               ตาเหลือง คือ ภาวะที่ดวงตาบริเวณเยื่อบุตาขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง โดยเกิดจากการมีปริมาณสารบิลิรูบิน (Bilirubin) ในกระแสเลือดสูงเกินไป ซึ่งสาเหตุที่มีสารบิลิรูบินจำนวนมาก สามารถเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเกิดจากภาวะดีซ่าน การทำงานที่ผิดปกติของตับหรือเกิดจากการอุดตันของท่อถุงน้ำดี รวมถึงปัญหาความผิดปกติของเม็ดเลือดแดงอย่าง โรคธาลัสซีเมีย

    อาการตาเหลืองเกิดจากสาเหตุอะไร

               อย่างที่ได้เกริ่นไว้ข้างต้นถึงสาเหตุว่า อาการตาเหลืองเกิดจากอะไร ? เรามารู้ถึงสาเหตุแต่ละอย่างที่ทำให้เกิดอาการตาเหลือง เพื่อที่จะเข้ารับการรักษาถึงปัญหาต้นตอเหล่านั้นได้อย่างตรงจุด 

    • ภาวะดีซ่าน (Jaundice)

    ส่วนใหญ่แล้ว ภาวะดีซ่าน มักเกิดการการทำงานที่ผิดปกติของตับ ทำให้ร่างกายไม่สามารถขับบิลิรูบินออกจากร่างกายได้ตามปกติ ทำให้สารบิลิรูบินเกิดการสะสมในกระแสเลือด นำไปสู่อาการตัวเหลือง ตาเหลือง 

    • โรคตับ 

    ปัญหาโรคตับ ไม่ว่าจะเกิดจากการทำงานของตับที่ผิดปกติ ไม่สามารถจัดการกับปริมาณสารบิลิรูบิน หรือเป็นโรคตับแข็งจากการบริโภคแอลกอฮอล์มากเกินไป เป็นมะเร็งตับ หรือติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ล้วนทำให้เกิดอาการตาเหลืองได้ทั้งสิ้น หากเริ่มสังเกตเห็นถึงความผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัย และรักษา 

    • โรคถุงน้ำดี

    โรคถุงน้ำดีหรือการมีก้อนนิ่ว เนื้องอกอยู่ในถุงน้ำดี จะส่งผลให้ท่อทางเดินน้ำดีเกิดการอุดตัน สามารถทำให้เกิดอาการตาเหลืองได้ ในกรณีตรวจพบนิ่วหรือก้อนเนื้องอกในถุงน้ำดี สามารถรักษาได้ด้วยการนำก้อนที่อุดตันทางเดินน้ำดีออก ควรรีบพบแพทย์ เนื่องจากหากก้อนเนื้อเป็นเนื้อร้ายหรือเรียกง่าย ๆ ว่า ก้อนมะเร็ง จะต้องรีบผ่าตัดนำออกให้เร็วที่สุด ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้จนเป็นอันตราย

    • โรคตับอ่อนอักเสบ

    อีกหนึ่งความผิดปกติจากตับที่ทำให้เกิดอาการตาเหลือง คือ โรคตับอ่อนอักเสบ ซึ่งเกิดจากการมีนิ่วในถุงน้ำดีขัดขวางทางเดินน้ำย่อยของตับอ่อน ทำให้ตับอ่อนทำลายหรือทำการย่อยเนื้อเยื่อตัวเอง จนเกิดการอักเสบขึ้น หากปล่อยให้อาการอักเสบดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ จะทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง อาจนำไปสู่โรคชนิดเรื้อรังอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวานได้

    • โรคธาลัสซีเมีย

    โรคธาลัสซีเมียหรือโรคโลหิตจาง เป็นโรคที่เซลล์เม็ดเลือดแดงในร่างกายมีความเปราะบาง อายุไขสั้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการตาเหลือง ตัวซีด ท้องป่อง ม้ามโต อีกทั้งยังสามารถเกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต จึงต้องเข้าพบแพทย์อย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ  

    อาการป่วยตามสีของตา

               สีของเยื่อบุตาขาวที่ผิดปกติ อาจมีอาการป่วยที่แตกต่างกันไปตามสาเหตุการเกิด จึงควรรู้ถึงสาเหตุที่แท้จริง เพื่อรับการดูแลรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมที่สุด

    อาการป่วยตามสีตา

    ตาขาวเป็นสีเหลือง

               เมื่อตาขาวอันสดใสของเราเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือเกิดอาการตาเหลือง สามารถเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเกิดจากการมีปริมาณสารบิลิรูบินในเลือดมากเกินไป ซึ่งเป็นผลจากการทำงานที่ผิดปกติของตับ รวมถึงสาเหตุอื่น ๆ ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น หากมีอาการตาเหลือง ควรรีบเข้าพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุ และเข้ารับการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสมได้ในทันที

    ตาขาวแดงเป็นเส้นเลือด

               ตาขาวแดงเป็นเส้นเลือด เกิดจากการขยายตัวของเส้นเลือดที่บริเวณตาขาว สามารถเกิดได้จากโรคภูมิแพ้ การติดเชื้อแบคทีเรียหรือติดเชื้อไวรัส โดยลักษณะอาการที่เกิดร่วมกับอาการตาแดงจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุการเกิด 

               ในกรณีที่มีลักษณะเลือดออกในเยื่อบุตาขาว เกิดจากเส้นเลือดฝอยในตาแตก สามารถเกิดได้จากการไอจามแรง ๆ การถูขยี้ตาหรือผู้ที่มีความดันโลหิตสูง มีความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด รวมถึงผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด โดยอาการตาแดงจากเส้นเลือดฝอยในตาแตกไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดใด สามารถหายไปได้เองภายใน 1 ถึง 2 สัปดาห์ หากมีอาการเคืองตา สามารถใช้น้ำตาเทียม บรรเทาอาการได้

    ตาขาวมีจุดสีเหลือง

               หากพื้นที่บริเวณตาขาวไม่ได้เปลี่ยนเป็นลักษณะตาเหลืองทั้งหมด แต่เกิดเพียงจุดหรือก้อนสีเหลืองใสที่บริเวณตาขาว สามารถบ่งบอกได้ถึงลักษณะของโรคความเสื่อมของเยื่อบุตาขาวหรือที่เรียกว่า ต้อลม นั่นเอง เป็นโรคที่เกิดจากการเผชิญกับรังสีอัลตราไวโอเลต ฝุ่นละออง เป็นระยะเวลานาน และต่อเนื่อง โดยนอกจากก้อนสีเหลืองที่เกิดขึ้นแล้ว โรคต้อลม ไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดหรืออันตรายต่อการมองเห็น ถึงอย่างไรก็ตาม หากไม่ดูแลหรือไม่พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค อาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง และพัฒนาไปเป็นต้อเนื้อที่สามารถบดบังการมองเห็นของเราได้

    ตาขาวแดงแต่ไม่เจ็บ

               ลักษณะตาขาวแดง แต่ไม่เจ็บ สามารถเกิดได้จากอาการเส้นเลือดฝอยในตาแตกที่จะหายไปได้เองภายใน 1 ถึง 2 สัปดาห์ หรืออาจเกิดจากโรคต้อเนื้อ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการเผชิญกับรังสีอัลตราไวโอเลต ฝุ่นมลภาวะในอากาศเป็นระยะเวลานานและต่อเนื่อง จนทำให้เกิดอาการตาแดง ระคายเคือง สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดลอกต้อเนื้อออกก่อนที่จะลุกลามเข้าไปยังบริเวณตาดำ


    ตาไม่ขาวใส เกิดจากอะไร อันตรายไหม

               เมื่อบริเวณเยื่อบุตาขาวเริ่มเปลี่ยนสี จากสีขาวใสกลายเป็นสีเหลือง ถือว่า เป็นสัญญาณบ่งบอกความผิดปกติของระบบในร่างกาย โดยอาการตาเหลืองสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

    ตาเหลืองจากภาวะดีซ่าน

    ตาเหลืองจากภาวะดีซ่าน เกิดจากการมีสารบิลิรูบินในร่างกายสูงเกินไป ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานที่ผิดปกติของตับ ตับอ่อนอักเสบ การมีนิ่วในถุงน้ำดี หรืออาจเกิดจากโรคทางพันธุกรรมอย่าง โรคธาลัสซีเมีย

    ตาเหลืองจากการติดเชื้อ

    การติดเชื้อบางชนิดก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของอาการตาเหลือง เช่น การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซี การติดเชื้อมาลาเรีย รวมถึงนอกจากอาการตาเหลืองแล้วอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น รู้สึก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ดังนั้นเมื่อสังเกตเห็นถึงความผิดปกติ จึงรีบเข้าพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาในทันที

    ตาเหลืองจากการใช้ยา

    การบริโภคยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยาสเตียรอยด์ ยาอะเซตามีโนเฟน ยารักษาอาการทางจิตใจและอารมณ์ สามารถก่อให้เกิดอาการตาเหลือง และอาการข้างเคียงอื่น ๆ ได้ ทั้งนี้ การใช้ยาบางชนิด ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย

    ตาเหลืองจากโรคทางพันธุกรรม

    ตาเหลือง สามารถเกิดได้จากโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคเกี่ยวกับระบบไหลเวียนเลือดอย่างโรคธาลัสซีเมีย ดังที่ได้กล่าวถึงในตอนต้นของบทความ ซึ่งเป็นโรคที่ต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการรุนแรงมาก สามารถเป็นอันตรายถึงชีวิต

               นอกเหนือจากสาเหตุทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ตาเหลือง สามารถเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเกิดจากอาการตาแห้ง ร่างกายขาดวิตามินเอ ใช้สายตาจ้องหน้าจอสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากเกินไป มีพฤติกรรมดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ ทั้งนี้ หากสังเกตเห็นถึงความผิดปกติ ควรพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยถึงสาเหตุต้นตอของอาการตาเหลือง และรับการรักษาได้อย่างตรงจุด 

    วิธีดูแลดวงตาให้ขาวใสและแข็งแรงอยู่เสมอ

               การดูแลดวงตาของเราให้ขาวใส และแข็งแรง ป้องกันการเกิดอาการตาเหลือง สามารถทำได้ไม่ยากด้วยตัวเอง ด้วยการปรับเปลี่ยนหรือควบคุมพฤติกรรมของเรา

    • รับประทานอาหารหรือผัก ผลไม้บำรุงสายตาที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี เบต้าแคโรทีน ลูทีน และซีแซนทีน เช่น มะละกอ ส้ม แครอท แตงโม 
    • รักษาความชุ่มชื้นให้กับร่างกาย ด้วยการดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว เพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำที่ส่งผลให้เกิดอาการตาแห้ง และหากเกิดอาการตาแห้ง สามารถหยอดน้ำตาเทียม เพื่อเติมความชุ่มชื้น
    • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกิน
    • พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อการทำงานอย่างเป็นระบบของส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย
    • หลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดดหรือรังสียูวี ฝุ่นควัน มลภาวะต่าง ๆ เมื่อออกที่แจ้ง ควรสวมแว่นกันแดดป้องกัน
    • คอยกะพริบตาอย่างสม่ำเสมอ เมื่อต้องทำงานใช้สายตาจ้องหน้าจอสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นระยะเวลานาน เพื่อคงความชุ่มชื้นในดวงตา รวมถึงพักสายตาเป็นระยะ ด้วยการมองไปยังที่ไกล ๆ ประมาณ 20 ฟุต ทุก ๆ 20 นาที ครั้งละ 20 วินาที หรือที่เรียกว่า กฎ 20-20-20
    • หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองหรือปัจจัยที่เสี่ยงต่ออาการอักเสบ และติดเชื้อ เช่น การใช้เครื่องสำอางร่วมกับผู้อื่นหรือใช้เครื่องสำอางหมดอายุ การใส่คอนแทคเลนส์เป็นระยะเวลานานเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน การขยี้ตาแรง ๆ เป็นต้น
    • ตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำทุกปี ในกรณีที่เจอความผิดปกติ จะสามารถรับการรักษาได้ตั้งแต่อาการยังไม่รุนแรง

    สรุป

               ตาเหลือง คือ อาการที่เกิดขึ้น เมื่อร่างกายมีสารบิลิรูบินจำนวนมากกว่าปกติ สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะดีซ่าน การทำงานที่ผิดปกติของตับ การมีโรคถุงน้ำดี หรือเกิดจากโรคทางพันธุกรรมอย่างธาลัสซีเมีย รวมถึงอาการตาเหลือง สามารถเกิดได้จากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ใช้สายตาจ้องหน้าคอมพิวเตอร์มากเกินไป สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ทั้งนี้ หากเกิดความผิดปกติ ดวงตาเริ่มเปลี่ยนสี ไม่ขาวใส อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรง ควรเข้าพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุ และรับการรักษาในทันที 

    ปรึกษาหรือสอบถามเพิ่มเติม
    • phone
    • facebook
    • line